ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้ตัวว่าตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์เริ่มเข้าสู่เดือนที่ 2 เพราะเป็นช่วงที่ประจำเดือนเริ่มขาดไป ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อประจำเดือนขาดไปประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะไปตรวจ ซึ่งอาจจะซื้อที่ตรวจการตั้งครรภ์มาตรวจเองก่อน แล้วจึงไปให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียดและทำการฝากครรภ์ต่อไป
เมื่อเราไปฝากครรภ์เราควรจะหาโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านและไว้ใจได้ เนื่องจากเมื่อถึงกำหนดคลอดจะได้เดินทางมาได้สะดวกและรวดเร็ว รวมไปถึงการเดินทางมาตรวจครรภ์ด้วยนั่นเอง
เมื่อไปฝากครรภ์ แพทย์จะตรวจร่างกายของเราอย่างละเอียด โดยแพทย์จะดูการเปลี่ยนแปลงของช่องคลอด โพรงมดลูก ขนาดของมดลูก ตรวจปัสสาวะ วัดความดันเลือด กรุ๊ปเลือด และการตรวจวีดีอาร์แอล (การหาเชื้อซิฟิลิสในเลือด)
ซึ่งสิ่งที่เราต้องเตรียมตัวไปในการตรวจคือ สอบถามประวัติของทั้งฝ่ายเรา (แม่เด็ก) และทางฝั่งสามีของเรา (พ่อเด็ก) ว่าเคยมีประวัติการป่วยเป็นโรคอะไรบ้าง เพราะโรคบางโรคก็อาจจะเป็นโรคที่ติดต่อได้ทางพันธุกรรม นอกจากนั้นก็นำยาที่เรากินเป็นประจำไปให้แพทย์ดูด้วยว่ามีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่ รวมไปถึงบอกประวัติการป่วยของเราว่ามีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ป้องกันสิ่งที่จะส่งผ่านจากตัวเราไปยังตัวลูก และป้องกันการพิการตั้งแต่กำเนิดของลูก
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่
ในช่วงเดือนที่สองของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก ซึ่งในปลายสัปดาห์ที่ 6 มดลูกเริ่มที่จะขยายตัว และหนาขึ้น เพื่อเตรียมรับการเติบโตของเด็ก
ในสัปดาห์ที่ 7 เราจะรับรู้ถึงการที่เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ตรงฐานรองหัวนมก็มีสีเข้มขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังมีอาการคัดตึงบริเวณเต้านมคล้ายกับตอนที่มีประจำเดือน แต่มีอาการคัดตึงมากกว่าตอนที่กำลังจะมีประจำเดือนมากนัก นอกจากนี้ยังมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าปกติอีกด้วย นอกจากนี้ก็อาจจะมีอาการของคนแพ้ท้อง โดยอาจจะคลื่นไส้ หรือว่ามีอาการวิงเวียนเกิดขึ้น ซึ่งหากว่ามีอาการแพ้ท้องโดยอาเจียนมากกว่าวันละ 3 ครั้งต่อวัน และไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเช้า ก็ให้ปรึกษาแพทย์โดยด่วน เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้ เนื่องจากสุขภาพของแม่อ่อนแอ
ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 มดลูกของแม่ขยายตัวมากขึ้น ขนาดจะอยู่ประมาณกำปั้นของเรา ช่วงนี้แม่อาจจะเป็นตะคริวบ่อยๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่เท้าและขาต้องรับน้ำหนักร่างกายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม บวกกับการที่ร่างกายดึงแคลเซียมจากเรา (คนที่เป็นแม่) ไปให้กับลูกน้อยที่อยู่ในท้อง ทำให้เกิดอาการตะคริวได้ ดังนั้นเราจึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปลาเล็กปลาน้อย (ปลากะตักที่สามารถกินเข้าไปทั้งตัวได้) หรือว่านมที่มีแคลเซียมสูง (ไฮแคลเซียม) เพื่อให้ร่างกายของเราไม่ขาดแคลเซียม
การเติบโตของลูก
สัปดาห์ที่ 6 เด็กยังมองเห็นไม่ค่อยจะชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นส่วนไหน มีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ซึ่งลูกจะอยู่ในถุงน้ำคร่ำที่อยู่ในมดลูกอีกต่อหนึ่ง
สัปดาห์ที่ 8 เริ่มจะเห็นชัดเจนว่าส่วนไหนเป็นส่วนไหน เริ่มเห็นหน้า โครงของช่วงฟันและปาก แขน ขา ตา และเพศ ขนาดของลูกจะอยู่ที่ประมาณ 3 เซนติเมตร
ข้อควรระวัง
ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก และ 3 เดือนสุดท้าย สิ่งที่พึงระวังเอาไว้ก็คือ
- ไม่ทำงานที่ต้องออกแรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานที่ทำงานหรือว่างานบ้าน
- นอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
- งดการเดินทางในระยะทางไกลๆ ซึ่งกินเวลานาน เพราะจะมีผลกระทบต่อลูกในท้องได้
- งดการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจจะทำให้แท้งหรือว่าคลอดก่อนกำหนดได้
- ไม่ว่าจะเจ็บป่วยหรือว่าเป็นอะไร แม้ว่าเล็กน้อยแค่ไหนก็ควรไปหาหมอ เพื่อให้หมอออกใบสั่งยาได้ เพราะยาบางชนิดจะมีผลต่อลูกน้อยอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว ตัวอย่างยาที่เป็นอันตรายต่อลูกในท้องก็อย่างเช่น ยาแก้ปวดหัวตัวร้อน ยาแก้แพ้ท้องทุกชนิดที่หาซื้อได้เองตามท้องตลาด
- แม้แต่การก้มตัวลงไปหยิบของหนัก หรือว่าการเอื้อมมือไปหยิบของที่อยู่สูงก็อาจจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหลังได้ ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิตมากกว่าเดิม
ข้อควรรู้
อาการแพ้ท้องของคุณแม่ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งท้อง ( ช่วง 3 เดือนแรก ) และอาจจะเกิดขึ้นอีกทีในช่วงที่ท้องแก่ใกล้คลอด อาการแพ้ท้องของแต่ละคนมีอาการที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะคลื่นไส้ หรือไม่ก็อาจจะกินนุ่นกินนี่ ซึ่งอาจจะเป็นของที่เกลียด หรือว่าไม่เคยอยากกินมาก่อนเลยก็ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนในร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลง
เมื่อเราแพ้ท้องเราพึงระลึกเอาไว้ว่า อาการแพ้ท้องนั้นจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นออยู่กับสุขภาพจิตของเราเอง หากว่าเราเครียดและกังวลมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการแพ้ท้องหนัก และมากกว่าคนอื่น ดังนั้นเราจะต้องรักษาสุขภาพจิตของเราให้แข็งแรง โดยไม่ต้องวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆ มากจนเกินพอดี